w ทำงานในญี่ปุ่น

ประสบการณ์ทำงานพิเศษในญี่ปุ่น ตอนที่ 3-4

ประสบการณ์ทำงานพิเศษในญี่ปุ่น ตอนที่ 3-4

By , Wednesday, 21 October 2020

ประสบการณ์ทำงานพิเศษในญี่ปุ่น ตอนที่ 3


          มาต่อกันกับประสบการณ์ในการทำงานพิเศษในญี่ปุ่น ตอนที่ 3-4 กันนะคะ  ใครยังไม่ได้อ่านประสบการณ์การเขียนเรซูเม่และสัมภาษณ์งานพิเศษตอนที่ 1-2 >>คลิกลิงก์นี้<< เพื่ออ่านได้เลยค่ะ

         วันแรกของการมาทำงานพิเศษ มาถึง ผู้จัดการร้านหรือเทนโจว (店長) ก็เรียกพนักงานเสิร์ฟผู้หญิงคนหนึ่งมาและบอกให้พาเราไปเปลี่ยนชุด และสอนงาน ขอเรียกว่าคุณซูซุกิละกัน คุณซูซุกิดูเด็ก ยังเป็นนักศึกษาอยู่เลยอายุน้อยกว่าเรา แต่มาทำงานพิเศษที่นี่ได้สองปีแล้ว

          ตอนไปเปลี่ยนชุด คุณซุซุกิก็พาไปที่ห้องเปลี่ยนชุดอยู่ชั้นใต้ดิน ห้องเปลี่ยนเสื้อค่อนข้างใหญ่ มีล็อกเกอร์เต็มไปหมด เข้าไปก็จะเห็นสาว ๆ บางคนกำลังแก้ผ้าอยู่ ใส่แต่ชั้นใน แว๊บแรกเห็นก็แอบเขินนิด ๆ ที่เห็นผู้หญิงโป๊ (ถึงจะเป็นผู้หญิงด้วยกันก็เหอะ 555) แต่ที่ญี่ปุ่น เพศเดียวกันแก้ผ้าต่อหน้ากันได้ เป็นเรื่องปกติ เขาไม่ได้อายกัน

          หลังเปลี่ยนชุดเสร็จก็ไปที่ร้าน คุณซูซุกิก็ยื่นเมนูร้านให้ บอกให้ไปจำชื่อเมนู (แน่นอนว่าเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมดและไม่ได้มีแค่โซบะอย่างเดียว แต่มีอุด้ง เมนูของกินเล่น เมนูเครื่องดื่ม ชื่อเหล้า ชื่อเครื่องดื่มมากมายต้องจำให้หมดนี่) และให้สคริปต์มาอีกอันหนึ่ง ในสคริปต์เป็นบทสนทนาภาษาญี่ปุ่น เขียนว่าเวลารับออร์เดอร์ต้องพูดยังไงบ้าง เวลาคิดเงิน เก็บจาน ขอโทษลูกค้า ฯลฯ ต้องพูดว่ายังไง (พระเจ้า! ขอบคุณมากที่มีสคริปต์นี้ เราเลยได้เอากลับไปท่องที่บ้าน)

          สิ่งที่ต้องทำตอนแรกคือ คอยยืนอยู่ใกล้ ๆ ทางเข้าร้าน พอลูกค้ามา ก็ให้ตะโกนไปว่า "いらっしゃいませ อิริชชัยมาเสะ" (ยินดีต้อนรับค่ะ)

จากนั้น ก็ถามเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า
1. 何名様でしょうか? nanmei sama deshouka มากี่ท่านคะ
2. 禁煙席ですか?喫煙席でしょうか? kin-en-seki desuka? kitsu-en-seki desuka? จะนั่งที่นั่งไม่สูบบุหรี่ หรือที่นั่งสูบบุหรี่คะ
3. こちらへどうぞ kochira e douzo เชิญทางนี้ค่ะ
4. หรือ 奥へどうぞ oku e douzo เชิญด้านในค่ะ

          พอลูกค้าไปนั่งที่โต๊ะเราก็ต้องเอาผ้าเช็ดมือให้และพูดว่า おしぼりでございます oshibori de gozaimasu (ผ้าเช็ดมือค่ะ) และรีบเอาน้ำชามาเสิร์ฟ ช่วงที่เราทำงานเป็นช่วงที่อากาศหนาวอยู่ ก็เลยต้องเสิร์ฟชาร้อน ตอนเสิร์ฟก็ต้องพูดว่า 湯のみでございます yu no mi degozaimasu (ชาร้อนค่ะ)

          จากนั้น ก็ต้องพูดต่อว่า ご注文がお決まりになりましたら、お呼びください go-chuumon ga okimari ni narimashitara, oyobi kudasai ถ้าจะสั่งอาหาร กรุณาเรียกนะคะ พอลูกค้าเรียก เราก็ต้องขานตอบว่า はい!すぐお伺いいたします hai! sugu o-ukagai itashimasu ค่ะ จะไปเดี๋ยวนี้ค่ะ (ตอนนั้นงงมาก เคยเรียนแต่คำว่า来ます กับ 行きます 555)

          พอลูกค้าสั่งอาหารเสร็จ ก็ต้องพูดว่ารายการอาหารมีแค่นี้ใช่มั้ยคะ ご注文、以上でよろしいでしょうか go-chuumon ijyou de yoroshiideshouka  จากนั้น ก็ต้องทวนออร์เดอร์ด้วยเพื่อกันความผิดพลาด จะพูดว่า かしこまりました!ではご注文を繰り返しさせていただきますね!kashikomarimashita! dewa gochuumon wo kurikaeshisasete itadakimasu ne รับทราบค่ะ ถ้าอย่างนั้น ขออนุญาตทวนรายการอาหารนะคะ

ที่มารูปภาพ: https://recipe-book.ubiregi.com/articles/communication-skill-up/

          คร่าว ๆ ประมาณนี้ค่ะ จริง ๆ หลังจากนี้ยังมีอีก ละเอียดกว่านี้อีก ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าอาชีพพนักงานเสิร์ฟร้านอาหารเล็ก ๆ จะต้องพูดจาสุภาพขนาดนี้ สำหรับเราตอนนั้นรู้สึกว่าประโยคพวกนี้มันยาวมากกกกก แค่คำสั้น ๆ ทำไมต้องยาวขนาดนี้ แถมไม่เหมือนกับที่เราเรียนในห้องเรียนเลย

          เราพูดช้า ตะกุกตะกัก บางทียังพูดไม่จบประโยคด้วยซ้ำ ลูกค้าเดินไปนั่งที่โต๊ะแล้ว หรือบางคน ยังไม่ทันนั่งที่โต๊ะก็สั่งอาหารแล้ว เพราะเป็นลูกค้าประจำ จำเมนูได้ (ส่วนเราเพิ่งมาวันแรก อย่าว่าแต่เมนูเลย ภาษาญี่ปุ่นยังจำไม่ได้เลย) ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นคุณลุง กับมนุษย์เงินเดือน พวกเขาก็จะพูดภาษาญี่ปุ่นแบบรัว ๆ แล้วฟังยาก ๆ ส่วนใหญ่เห็นหน้าเรา จะคิดว่าเราเป็นคนญี่ปุ่น ก็จะพูดภาษาญี่ปุ่นรัว ๆ เร็ว ๆ แบบไม่ยั้ง

          แน่นอนว่า วันแรกรู้สึกเครียดมากเพราะฟังไม่ออก แอบรู้สึกว่าเราเป็นตัวถ่วงมากกว่ามาช่วยรึเปล่า เวลาฟังไม่ออกก็จะต้องเรียกคุณซูซุกิ มาช่วยรับออเดอร์แทนทุกครั้ง ตั้งใจละว่า วันนี้กลับบ้านไป จะกลับไปนั่งท่องสคริปต์กับเมนูให้ได้ หลังทำการบ้านเสร็จ


ป.ล. แอบเสียดายที่ทำสคริปต์ที่เทนโจวเขียนมาให้หายไปแล้วไม่งั้นจะมาโพสให้ดู

ป.ล.2 รูปเราบนสุดไม่ใช่ชุดยูนิฟอร์มร้านนี้นะคะ (พอดีหารูปไม่เจอ) แต่เป็นชุดพนักงานเสิร์ฟอีกร้านที่เคยไปทำงานพิเศษเป็นล่ามค่า


ประสบการณ์ทำงานพิเศษในญี่ปุ่น ตอนที่ 4


          นอกจากรับออร์เดอร์แล้ว หลังรับออเดอร์เสร็จ ก็ต้องเอากระดาษที่รับออเดอร์มาให้ที่ครัว (ยัง analog อยู่) ในกะจะมีพนักงานเสิร์ฟ แค่ 2-3 คนเท่านั้น รวมเราและคนที่ทำงานในครัวอีก 1-2 คน เป็นผู้ชาย (หน้าตาดี อายุน่าจะมากกว่าพวกเราไม่มาก แต่เข้มงวดมาก เคยโดนเขาดุด้วยตอนทำพลาด) 

ข้อมูลที่ต้องใส่ใบสั่งอาหาร คือ 
1. โค้ดอาหาร (ซึ่งจำไม่ได้หรอก ต้องหยิบเมนูมาเปิดดูและใส่โค้ด แต่เมนูไหนที่คนสั่งบ่อย ๆ ก็จำได้) 
2. ต้องวงเล็บด้วย เวลาลูกค้าไม่อยากให้ใส่ต้นหอม สั่งแบบร้อนหรือเย็น หรือมีรีเควสแปลก ๆ
3. เลขที่โต๊ะ 

          พออาหารได้แล้ว ก็จะต้องยกไปเสิร์ฟที่โต๊ะ โดยจะเสิร์ฟทั้งถาดเลย เพราะส่วนใหญ่เป็นเซ็ตและการจัดเรียงจานก็สำคัญ ห้ามเสิร์ฟผิดด้านตอนที่นำอาหารมาเสิร์ฟจะต้องพูดว่า お待たせしました!omataseshimashita (ขอโทษที่ทำให้รอค่ะ) และบอกชื่ออาหาร + でございます degozaimasu ที่แปลว่า ชื่ออาหาร + ค่ะ

          จากนั้น จบด้วยประโยคด้านล่าง ごゆっくりどうぞ!go-yukkuri douzo แปลตรง ๆ จะแปลว่า ไม่ต้องรีบนะคะ ค่อย ๆ รับประทานแบบสบาย ๆ แต่ถ้าให้แปลเป็นภาษาไทยแบบธรรมชาติ จะแปลว่า กินให้อร่อยก็ได้ค่ะ จากนั้น เราก็จะไปยืนประจำที่และคอยสังเกตถ้วยน้ำลูกค้า ถ้าน้ำหมดก็ให้รีบไปเติม พอเห็นลูกค้ากินจานหนึ่งเสร็จ ก็ต้องรีบเข้าไปถามว่า お皿をお下げしてもよろしいですか osara wo osage shitemo yoroshii desuka (ขออนุญาตเก็บจานได้ไหมคะ) 

ที่มารูปภาพ: https://oa-center.co.jp/2020/08/12/colmn_20200810/

          ก่อนหน้านั้น ตอนอยู่เมืองไทยเวลามีคนมาเก็บจาน จะแอบรู้สึกว่าเขาไล่เรารึเปล่า แต่ที่ญี่ปุ่นไม่ใช่ ลูกค้าอยากนั่งนานแค่ไหนก็ได้ พนักงานเสิร์ฟแค่มาเก็บจาน เพราะคิดว่าลูกค้าจะได้นั่งสบาย ๆ เท่านั้นเอง เวลาที่ร้านว่าง ๆ ไม่ค่อยมีลูกค้า คุณซูซุกิก็จะให้ไปช่วยจัดเมนูตามโต๊ะต่าง ๆ ให้หันมาทางเดียวกัน เพราะบางทีพอลูกค้ามาและดูเมนูเสร็จแล้วไม่เก็บให้เรียบร้อย หรือไม่ก็ไปเตรียมแก้วชาให้พร้อมเสมอ พอลูกค้ามาก็จะได้เสิร์ฟเลยหรือจะกินข้าวที่ร้านก็ได้ ก็จะมีส่วนลดของพนักงานจ่ายแค่จานละ 400 เยน (จากปกติประมาณ 1300 เยน) โดยจะหักจากค่าแรง

          ช่วงเวลาพีค ๆ ก็จะยุ่งมาก ๆ ต้องมีสติตลอดเวลา เพราะไม่ใช่ภาษาเราด้วย และต้องจำประโยคยาว ๆ ที่เป็นภาษาสุภาพด้วย แน่นอนบางครั้งก็มีสถานการณ์นอกสคริปต์อยู่บ่อย ๆ เช่น ลูกค้าพูดชื่อเมนูเก่าที่ไม่ขายแล้ว ลูกค้าที่จองไว้ รีเควสไม่ใส่โน่นนี่ เสิร์ฟเมนูผิด ฯลฯ ซึ่งถ้าเป็นภาษาไทยคงจะไม่ยากอะไรแต่พอเป็นภาษาญี่ปุ่น และต้องเป็นภาษาสุภาพก็ต้องระวังมาก ๆ เพราะที่ญี่ปุ่น ลูกค้าเป็นพระเจ้าจริง ๆ

          แทบทุกร้านที่เคยไปมา ไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กซอมซ่อแค่ไหนแต่บริการนี่ เทียบเท่า 5 ดาวในเมืองไทยเลย สุภาพและใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ มาก เราไม่เคยทำงานพิเศษร้านอาหารมาก่อน เคยคิดว่างานเสิร์ฟเป็นงานง่าย ๆ ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่พอมาทำจริง ๆ ถึงเข้าใจว่ามันก็เหนื่อยและใช้สกิลมากกว่าที่คิดเยอะ

          พอหลังจากที่ทำไปสักพักก็เริ่มชินและเริ่มจำประโยคเหล่านั้นได้ ทำให้ระดับภาษาเราก็เริ่มพัฒนาไปได้เร็วระดับหนึ่ง แต่ก็แอบเหนื่อยเหมือนกัน เพราะหลังเลิกเรียน ทำงานตั้งแต่ 5 โมงเย็น จนถึง 4 ทุ่ม คือ เวลาปิดร้าน

ที่มารูปภาพ: https://general-food.com/reception/may-i-put-down-an-empty-plate

          หลังปิดร้านก็ต้องเก็บร้านกับคุณซูซุกิ จะต้องเช็ดโต๊ะ กวาดพื้น ถูพื้น ยกเก้าอี้ขึ้นวางโต๊ะเก็บป้ายหน้าร้านทุกวัน ส่วนคนที่ทำครัวก็ต้องล้างครัว จากนั้น ถึงจะกลับบ้านได้ จำได้ว่าเงินก่อนแรกที่ได้มาจากการทำงานพิเศษนั้นภูมิใจมาก ๆ เริ่มเข้าใจคุณค่าของเงินมากขึ้นว่ามันไม่ได้ได้มาง่าย ๆ แต่ข้อเสียของการทำงานพิเศษนี้คือ มันเหนื่อย กว่าจะกลับถึงบ้าน อาบน้ำอะไรเสร็จก็เกือบเที่ยงคืนทำให้ไม่มีเวลาทบทวนบทเรียน ทำไงได้ล่ะ เงินก็อยากได้ ภาษาญี่ปุ่นก็ต้องเรียน 


ติดตามรับข่าวสารเกี่ยวกับญี่ปุ่น

YouTube: www.youtube.com/ilovejapanth/

Facebook: www.facebook.com/ILoveJapan.th/

Twitter: https://twitter.com/ILOVEJAPANTH

Instagram: www.instagram.com/ilovejapanth/

TikTok: https://www.tiktok.com/@ilovejapanth

ทดลองเรียนภาษาญี่ปุ่นออนไลน์ฟรี 3 วันได้ที่ www.ilovejapanschool.com